วิธีการเรียน ในห้องเรียนในเมืองนอก ต่างจากบ้านเรามากแค่ไหน!!
- czopspectercom
- 0
- on ธ.ค. 22, 2017
เทคนิค หรือ วิธีการ ที่จะมาแนะนำ
การเรียนต่อต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนไทยอย่างเราๆ ซึ่งต้องพยายามปรับตัวในหลายๆ ด้านไม่ใช่แค่ด้านภาษา เพราะเรากำลังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากเดิมในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านวิธีการเรียน ปกตินักเรียนไทยจะฟังอาจารย์สอนแล้วก็จดหรือจำในสิ่งเหล่านั้นไปตอบข้อสอบ แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษหรืออเมริกา วิธีการเรียนรู้จะหลากหลายกว่าเพราะมีทั้งสัมมนาที่เราต้องพูด ต้องคิด ต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อน การทำงานกลุ่ม การค้นคว้าวิจัยด้วยตัวเอง หรือการทำงานจากตัวอย่างจริง เราจะปรับตัวอย่างไรเมื่อต้องเจอสถานการณ์เหล่านี้? มาดู 5 เรื่องหลักๆที่เราต้องเจอ
1. การอ่าน
นอกเหนือจากการเขียนและการลำดับความคิด ทักษะทางการอ่านก็เป็นสิ่งสำคัญที่เราควรจะทำความคุ้นเคยเอาไว้ เพราะเราจะเจอ reading list หรือเอกสารที่เราต้องอ่านจำนวนมาก (จนรู้สึกว่า จะไปอ่านทันได้ยังไง?) ดังนั้นการฝึกอ่าน จดโน้ตที่เกี่ยวข้อง และการสรุปเนื้อหาของสิ่งที่เราอ่านจึงเป็นสิ่งจำเป็น ไม่อย่างนั้นเราอาจจะอ่านเพลินๆ และลืมสิ่งที่เราอ่านไปทั้งหมดก็ได้ ที่สำคัญเมื่อเห็น reading list แล้ว อาจจะต้องขอให้ที่บ้านส่งหนังสือที่จำเป็น Version ภาษาไทย มาให้อ่านเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น
2. การเขียนเรียงความ (Essay)
การเขียนเรียงความเป็นสิ่งที่นักเรียนไทยส่วนใหญ่กลัว (ตัวพี่เองก็เคยกลัว) เพราะนอกจากเรื่องภาษาแล้ว การเขียนเรียงความแต่ละครั้งเราต้องอ่านข้อมูลจำนวนมากเพื่อนำมาสนับสนุนหรือข้อโต้แย้งความคิดของเรา แถมยังต้องจัดเรียงข้อมูลเหล่านั้นให้เป็นระบบ โดยไม่ผิดหลักการคัดลอกบทความ (plagiarism) อีกด้วย (ลองอ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ Plagiarism.org)
ส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยจะมี Pre-sessional courses หรือ In-sessional courses รวมทั้งแผนกที่ คอยให้ความช่วยเหลือนักเรียนต่างชาติที่ไม่มั่นใจในทักษะทางภาษา เช่นการเขียนเรียงความ การพูด การพรีเซนต์งานหน้าชั้น หรือการทำบรรณานุกรม ซึ่งเราสามารถใช้บริการเหล่านั้นได้ฟรี ลองสอบถามเจ้าหน้าที่ที่มหาวิทยาลัยดู
3. ชั่วโมงเรียน
ส่วนใหญ่นักเรียนในชั้นเรียนจะไม่ค่อยคุ้นเคยกับการฟัง เขียน และเรียนรู้ในเวลาเดียวกัน เพราะมักจะเสียสมาธิไปกับการจดข้อมูล คือเงยหน้ามาฟังอาจารย์ก็ไม่ทันแล้ว (อาจจะเพราะอาจารย์พูดไว หรือสำเนียงฟังลำบาก) ขอให้ทำใจไว้เลยว่าเป็นเรื่องปกติ ให้เลือกที่นั่งใกล้ๆ อาจารย์ไว้ก่อน และทำ note เฉพาะสิ่งที่สำคัญเท่านั้น ดูตัวช่วยอื่นๆเพื่อให้เรียนรู้เรื่องในชั่วโมง
ที่สำคัญ อาจารย์จะแจก Course syllabus (คือ ตารางสอนนั่นเอง) บอกว่าในแต่ละ week จะสอนเกี่ยวกับเรื่องอะไร และมีหนังสืออะไรที่ควรอ่านก่อนเข้าเรียน แนะนำว่า ต้องอ่านไปก่อน อ่านแต่หัวข้อไปยังดีกว่าไม่อ่านเลย เพราะการอ่านเอกสารหรือหนังสือเหล่านั้นก็จะช่วยให้จับใจความในสิ่งที่อาจารย์สอนได้ง่ายขึ้น ส่วนการเข้าเรียนก็ทำให้เรารู้ว่าอาจารย์จะเน้นหัวข้อตรงไหนเป็นพิเศษ หัวข้อไหนอาจจะอยู่ในข้อสอบ
4. การสัมมนา
ในบางประเทศจะมีการผสมการเข้าเรียนปรกติกับการสัมมนา ซึ่งจะแบ่งกลุ่มนักเรียนเป็นกลุ่มย่อยเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างอาจารย์และนักเรียน นักเรียนไทยซึ่งไม่คุ้นเคยกับการพูดหรือแสดงความคิดเห็นอาจจะทำได้แค่นั่งเงียบๆ ในชั้น เพราะอายหรือกลัวพูดผิด แต่จริงๆ แล้วการสัมมนามีประโยชน์มากเพราะทำให้เราได้แลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ กับเพื่อน หรือถ้าเราเข้าใจเรื่องที่อาจารย์สอนผิด การพูดคุยกับอาจารย์ก็จะทำให้เราเข้าใจมากขึ้น ที่สำคัญคือการสัมมนานั้นจะช่วยกระตุ้นให้เราได้คิดและปรับใช้เรื่องที่เรียนกับชีวิตจริงมากขึ้น
5. การวิจัยและการหาข้อมูล
ในหลายๆ หลักสูตร เราจะต้องทำวิจัยหรือวิทยานิพนธ์เพื่อที่จะจบการศึกษา ทักษะที่เราได้จากการวิจัยนี้จะติดตัวกับเราและมีประโยชน์ไปจนถึงเวลาที่เราทำงานในภายหลัง โดยที่ในการทำวิจัยนั้นเราจะต้องเรียนรู้หัวข้อที่เราสนใจอย่างลึกซึ้ง และต้องค้นคว้าหาข้อมูลทางวิชาการผ่านวารสาร หนังสือ หรือจากอินเตอร์เน็ต (Google Scholar จะมีประโยชน์มาก) เพราะแหล่งข้อมูลที่ไม่ใช่เชิงวิชาการอย่าง Wikipedia ไม่สามารถนำมาอ้างอิงได้นะจ๊ะ
ทางมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะมีการแนะนำวิธีการหาข้อมูลและการใช้ห้องสมุดในช่วงเปิดเทอมใหม่ ซึ่งเราสามารถติดตามข้อมูลของการบรรยายเหล่านี้ได้จากทางเว็บของมหาวิทยาลัยหรือในวันปฐมนิเทศ ต้องใส่ใจฟังให้ดีไม่งั้นอาจเสียใจภายหลัง